นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 ที่ได้มีการเปลี่ยนชื่อจาก “กรมการสาธารณสุข” เป็น “กรมอนามัย” ภาระหน้าที่ของกรมอนามัยในยุคเริ่มแรกมีงานกว้างขวางครอบคลุมงานป้องกันโรค งานส่งเสริมสุขภาพ งานอนามัยสิ่งแวดล้อม และงานควบคุมโรคติดต่อซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในขณะนั้น เช่น โรคคุดทะราด โรคเรื้อน กาฬโรค และอหิวาตกโรค นับเป็นผลงานที่โดดเด่นของกรมอนามัยที่สามารถกวาดล้างโรคเหล่านี้ให้หมดไปจากประเทศไทย
จุดกำเนิดศูนย์ประสานวิชาการ (ทศวรรษที่ 1 : พ.ศ. 2533 – 2542)
วันเวลาผ่านไป กรมอนามัยก้าวผ่านการปรับเปลี่ยนภารกิจหลักจากการควบคุมโรคสู่การส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมอย่างเด่นชัดขึ้น ซึ่งเป็นภารกิจที่ต้องใช้ความรู้ ความจัดเจนทางวิชาการ องค์ความรู้ ตลอดจนการบริหารจัดการและประสานสัมพันธ์กับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2533 กรมอนามัยได้จัดตั้ง “ศูนย์ประสานวิชาการ” ขึ้น เพื่อรองรับภารกิจด้านสนับสนุนวิชาการ โดยมีนายสุคนธ์ เจียสกุล เป็นผู้อำนวยการคนแรก นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการทำงานของกรมอนามัยที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้น ด้วยเหตุที่งานส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ วางแผน และประเมินผลสำเร็จของแต่ละงาน กรมอนามัยจึงเริ่มศึกษาและพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์อย่างจริงจัง โดยร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนสามารถวางระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์กรมอนามัยได้เป็นครั้งแรก ครอบคลุมสำนักงานของกรมทุกระดับพื้นที่ ในปี พ.ศ. 2538 ซึ่งเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย พัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ในการส่งเสริมสุขภาพอย่างเต็มรูปแบบ และยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่เอื้อต่อการทำงานอย่างประสานกันของหน่วยปฏิบัติงานกรมในจังหวัดต่างๆ และภาคีเครือข่ายอื่นๆ จนในปี พ.ศ. 2539 “ศูนย์ประสานวิชาการ” ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “กองแผนงานและวิชาการ” และเปลี่ยนเป็น “กองแผนงาน” ในเวลาต่อมา
สู่บทบาทเสนาธิการกรม (ทศวรรษที่ 2 : พ.ศ. 2543 – 2552)
ทศวรรษที่ 2 ของกองแผนงาน เมื่อระบบสาธารณสุขเกิดการปรับเปลี่ยนมุมมองและวิธีคิดด้านสุขภาพของคนไทย ไม่ให้ยึดติดกับการซ่อมสุขภาพ แต่เปลี่ยนมาเป็นการสร้างสุขภาพแทน นำไปสู่การปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ ทำให้เกิดหน่วยงานใหม่ในรูปแบบสำนักงานอิสระ ทั้ง สปรส. สปสช. สสส. สวรส. และ สช. ซึ่งส่งผลต่อการวางนโยบายและแนวทางการทำงานและการปรับเปลี่ยนโครงสร้างครั้งใหญ่ของกรมอนามัยในปี พ.ศ. 2546 และ 2552 ทำให้ต้องปรับกลยุทธ์และวิธีการดำเนินงานที่ให้น้ำหนักความสำคัญกับกระบวนการตัวชี้วัดความสำเร็จ และระบบการประเมินโครงการมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผลจากพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ที่กำหนดให้ทุกกระทรวง กลุ่มภารกิจและกรมต้องจัดทำ “แผนปฏิบัติราชการ 4 ปี” เป็นครั้งแรก เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี และใช้เป็นกรอบในการเจรจาต่อรองกำหนดเป้าหมายการพัฒนาระบบราชการ ทำให้กองแผนงานเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการเป็น “เสนาธิการขององค์กร” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนายพิษณุ แสนประเสริฐ ผู้อำนวยการกองแผนงานคนที่ 2 ได้เป็นผู้วางรากฐานของการพัฒนายุทธศาสตร์และการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของกรมอนามัย
แผนยุทธศาสตร์กรมอนามัยฉบับแรก (ทศวรรษที่ 3 : พ.ศ. 2553 – 2562)
กรมอนามัยได้ปรับตัวเข้ากับสภาพการณ์การเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพตลอดมา นับตั้งแต่การดำรงอยู่ในสถานะ “เจ้าภาพ” และ “เจ้ามือ” ในงานส่งเสริมสุขภาพและงานอนามัยสิ่งแวดล้อมมาจนถึงบทบาทของการ “ร่วมคิด ร่วมทำ และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน” ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2550 นายวิสุทธิ บุญญะโสภิต ผู้อำนวยการกองแผนงานคนที่ 3 ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์กรมฉบับแรก (ปี 2551 – 2554) ภายใต้กรอบแนวคิดของ Six Key Functions และ PMQA รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำ “อนามัยโพล” อย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยกองแผนงานได้จัดตั้งคณะทำงานอนามัยโพลขึ้น ตั้งเป้าหมายจัดทำโพลตามวาระกิจกรรมสำคัญของแต่ละเดือน โดยมีผลงานชิ้นแรกคือการจัดเก็บข้อมูล เรื่อง “ทัศนคติของวัยรุ่นไทยกับวันวาเลนไทน์” และถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลในการจัดแถลงข่าวของกรมอนามัยหลายครั้ง
แผนยุทธศาสตร์กรมอนามัยถูกปรับปรุงให้มีความทันสมัย รองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของระบบสุขภาพมาโดยตลอด ซึ่งนางสาวสร้อยทอง เตชะเสน ผู้อำนวยการกองแผนงานคนที่ 4 ได้ดำเนินการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์กรมอนามัย ฉบับปี 2253 – 2556 ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วยกฎบัตรกรุงเทพ โดยใช้กลยุทธ์ PIRAB เป็นกลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อน ต่อมาในยุคของนายสืบพงษ์ ไชยพรรค ผู้อำนวยการกองแผนงานคนที่ 5 กรมอนามัยได้ยกระดับแผนยุทธศาสตร์สู่การเป็นผู้อภิบาลระบบส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศ ที่สอดรับกับแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564)
ปี 2560 กองแผนงานยังได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพหลักจัดการประชุมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสู่ความเป็นเลิศ (Promotion and Prevention Excellence Strategic Plan Forum) ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์พัฒนาความเป็นเลิศ 4 ด้านของกระทรวงสาธารณสุข (4 Excellence)
เสนาธิการกรมยุคดิจิทัล (ทศวรรษที่ 4 : พ.ศ. 2563 – ปัจจุบัน)
กองแผนงานในช่วงก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 4 ยุคแห่งการ Disruption และ Transformation สภาพแวดล้อมและบริบทที่เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดทำให้กองแผนงานจำเป็นต้องปรับตัวตามไปด้วย ทุกกลุ่มงานนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการทำงานมากขึ้น และพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกันในเกือบทุกกระบวนงานสำคัญ เริ่มตั้งแต่ระบบ DOC ตอบโจทย์งานแผน งบประมาณ และติดตามประเมินผล, ระบบ Dashboard และ Data Center ช่วยรวบรวมฐานข้อมูลให้เป็นเอกภาพ และจัดการข้อมูลเฝ้าระวังรวมทั้งตัวชี้วัดต่างๆ หรือแม้แต่การพัฒนา Platform รองรับการทำงานด้านคนและสิ่งแวดล้อมในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้ง Thai Stop Covid และ Thai Save Thai ซึ่งทันตแพทย์ดำรง ธำรงเลาหะพันธุ์ ผู้อำนวยการกองแผนงานคนปัจจุบันได้นำมาใช้ขับเคลื่อนการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม (EOC กรม) ในปี 2563 และ 2564
นายสุคนธ์ เจียสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ประสานวิชาการ
1 ตุลาคม 2533 – 14 พฤศจิกายน 2539
นายสุคนธ์ เจียสกุล ผู้อำนวยการกองแผนงานและวิชาการ
15 พฤศจิกายน 2539 – 17 พฤศจิกายน 2539
นายพิษณุ แสนประเสริฐ ผู้อำนวยการกองแผนงาน
20 กันยายน 2539 – 4 ตุลาคม 2548
นายวิสุทธิ บุญญะโสภิต ผู้อำนวยการกองแผนงาน
10 ตุลาคม 2548 – 30 พฤศจิกายน 2550
นางสาวสร้อยทอง เตชะเสน ผู้อำนวยการกองแผนงาน
1 ธันวาคม 2550 – 30 กันยายน 2555
นายสืบพงษ์ ไชยพรรค ผู้อำนวยการกองแผนงาน
23 พฤศจิกายน 2555 – 30 กันยายน 2562
ทันตแพทย์ดำรง ธำรงเลาหะพันธุ์ ผู้อำนวยการกองแผนงาน
2 ตุลาคม 2562 – 16 พฤษภาคม 2567
นายนุกูลกิจ พุกาธร ผู้อำนวยการกองแผนงาน
27 พฤศจิกายน 2567 – ปัจจุบัน
อ้างอิง